วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561

หนุ่มหนอนหนังสือ : ปฐมบทของคนรักหนังสือ

หนุ่มหนอนหนังสือ ... สวัสดีครับ


ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวผ่านบทความแรกนี้กันก่อนนะครับ
ผมสร้าง Blog และ Fanpage ขึ้นมา ก็เพราะผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือครับ ก่อนอื่นเลยต้องยอมรับว่า มีหนังสือหลายเล่มเลยที่ผมซื้อมาแต่ก็ยังอ่านไม่หมด หากเทียบกันแล้ว ปริมาณหนังสือที่ผมอ่านจบยังมีจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหนังสือที่ได้ซื้อมาเลยครับ ... ผมว่านะ มีปัจจัยหลายอย่างเลยที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของข้ออ้าง และการบริหารเวลาของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ... จะว่ากันไปแล้ว ก็มีสองประเด็นนี้จริงๆ สำหรับนักอ่าน ...

เคยได้ยินคำว่า Tsundoku (ซุนโดคุ) กับคำว่า Bibliomania (ไบ/บิบลิโอมาเนีย) กันไหมครับ
คำหนึ่งมีรากฐานศัพท์มาจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีกคำเป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งสองคำนั้นเป็นคำจำกัดความให้กับคนที่ชอบหนังสือมากๆ



มาดูคำว่า Tsundoku กันก่อนดีกว่าครับ
ในความหมายของคำนี้ ใช้อธิบายคนที่ชอบซื้อหนังสือมาหลายๆ เล่ม แต่ก็ไม่ได้จริงจังในการอ่าน อ่านไม่จบ หรือไม่ได้อ่านซักที ... มีข้อมูลจากอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชื่อ ศาสตราจารย์แอนดรูว์ เกิรส์เทิล ที่ได้เล่าถึงที่มาของศัพท์คำนี้ว่า แต่ก่อนนั้นมีอาจารย์ในประเทศญี่ปุ่นท่านหนึ่งถูกเรียกขานเชิงเสียดสีว่า เป็นผู้ที่มีหนังสือจำนวนมากแต่กลับอ่านได้ไม่หมด อาจารย์ท่านนี้ชื่อว่า Tsundoku Sensei ครับ

หากวิเคราะห์กันเป็นคำต่อคำแล้ว คำว่า Tsundoku ถูกแยกออกมาได้อย่างมีความหมายดังนี้ครับ
ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า Doku (โดคุ) แปลว่า อ่าน, Tsun (ซุน) เป็นคำที่มีมาจากคำว่า Tsumu (ซุมุ) แปลว่า วางกองไว้ ... เมื่อนำมารวมกัน จึงมีความหมายว่า การซื้อหนังสือมาแล้วนำมากองไว้เท่านั้น



ส่วนคำว่า Bibliomania นั้น ...
ในความหมายอาจจะฟังดูแรงกว่าคำว่า Tsundoku อยู่บ้าง ... เพราะเมื่อแปลออกมาแล้วนั้น หมายความว่า อาการคลั่งหนังสือ ครับ ... ประวัติของคำศัพท์นี้ เคยถูกใช้เป็นชื่อของนิยายในยุคสมัยศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว โดย Thomas Frognall Dibdin (โธมัส ฟร็อกแนลล์ ดิบดิน) ก็ได้ให้ความหมายของคำว่า "อาการคลั่งหนังสือ" หรือ "ความบ้าหนังสือ" ไว้ว่า เป็นลักษณะอาการของคนที่ไม่สามารถหยุดสะสมวรรณกรรมประเภทหนังสือได้เลย แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ว่า หนังสือเล่มที่จะสะสมนั้น อาจเป็นหนังสือที่มีการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก หรือมีภาพประกอบพิเศษซึ่งอาจเป็นแบบ Limited Edition

ในความเป็นจริง ทั้งสองคำนี้ยังมีความแตกต่างกันอยู่ ถึงแม้ดูผิวเผินจะมีความหมายคล้ายๆ กันก็ตาม
เพราะคำว่า Bibliomania นั้น เป็นความพยายามที่เน้นในการหาหนังสือมาสะสมและครอบครอง ซึ่งอาจไม่ได้มีเรื่องของความตั้งใจที่จะซื้อมาเพื่ออ่าน (แต่สุดท้ายก็เอามาเป็นเพียงแค่ของสะสม) อย่าง Tsundoku ...

เคยถามตัวเราเองไหมครับว่า ปีหนึ่งๆ เราอ่านหนังสือจบเล่มได้กี่เล่มกัน ?
และหนังสือหนึ่งเล่ม โดยเฉลี่ยแล้วเราอ่านหนังสือเล่มหนึ่งจบภายในกี่วัน ?
อย่าง Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook นั้น ... เขาอ่านหนังสือจบเล่มได้ภายในหนึ่งคืนเลย
และนักเขียนชื่อดังอย่าง Agatha Christie ก็สามารถอ่านหนังสือได้ปีละมากกว่า 200 เล่ม


ด้วยวิวัฒนาการของโลกปัจจุบันที่มีระบบไอทีเข้ามาช่วยในการใช้ชีวิตให้ง่ายขึ้น
จากที่เวลาเราจะซื้อหนังสือทีหนึ่ง เราก็ต้องไปถึงร้านหน้งสือ เช่น ศูนย์หนังสือจุฬา, ร้านหนังสือนายอินทร์ หรือ ซีเอ็ดบุ๊ค เป็นต้น หรือไม่ก็ไปตามงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ก็เปลี่ยนมาเป็นการซื้อหนังสือออนไลน์ได้  เพียงแค่เราคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ของร้านหนังสือแล้วดูว่ามีหนังสือหนังสือเล่มใดที่น่าสนใจหรือมีเล่มที่เราต้องการอยู่หรือไม่ จากนั้นก็ทำการสั่งซื้อและทางร้านก็จะจัดส่งหนังสือมาถึงบ้านเราเลย อีกทั้งยังมีหนังสือที่ถูกออกแบบมาในรูปของ Ebook เช่นกัน ซึ่งก็ช่วยให้หลายคนมีความคล่องตัวในการเปิดอ่าน แค่เพียงจิ้มบนหน้าจอก็สามารถพลิกไปอีกหน้าหนึ่งได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังสามารถพกพาหนังสือด้วยการแค่เพียงดาวน์โหลดไฟล์อีบุ๊คเป็นเล่มๆ ก็สามารถค้นหาหนังสือเล่มโปรดจากห้องสมุดแบบพกพาบนเครื่อง Tablet หรือมือถือที่มีหน่วยความจำเยอะและหน้าจอกว้างพอให้เราอ่านหนังสือได้อย่างสะดวกเช่นกัน

ผมว่า คงมีอีกหลายคนเลยที่รักการอ่านเช่นเดียวกันกับผม ...
และก็มีหลายคนเช่นกันที่ ซื้อหนังสือมาเยอะมากมาย แต่อ่านไม่หมด อ่านไม่ทัน หรือเพียงแค่นำมาจัดเป็น Book Store Collection ตามมุมใดมุมหนึ่งในบ้าน ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะได้ทยอยหยิบมาอ่านแล้วก็ได้ความรู้ความเพลิดเพลินตามความประสงค์แรกที่เราตั้งไว้


การอ่านหนังสือ ไม่จำเป็นต้องถูกมองว่า #คงแก่เรียน #นักวิชาการ เสมอไปนะครับ เพราะการอ่านหนังสือนั้นก็เป็นกิจกรรมที่เราได้ผ่อนคลายจากอิริยาบถจากด้านอื่นๆ ด้วย ... หลายคนคงเคยแวะไปร้านหนังสือแล้วมองหาหนังสือสักเล่ม จนกระทั่งไปพบกับหนังสือที่น่าสนใจขึ้นมา พอเราได้เปิดอ่านแล้วก็มีความรู้สึกว่า อยากตามติดเนื้อหาในหน้าถัดไปหรือในบทต่อๆ ไป แสดงว่าหนังสือเล่มนั้นมีเนื้อหาที่ตรงใจเรา ...

เคยได้ยินกันมาบ้างใช่ไหมครับว่า หนังสือคือเพื่อนที่เข้าใจเราที่สุด
หากเราเจอหนังสือสักเล่ม จากการได้อ่านชื่อตรงหน้าปกแล้วเกิดความสนใจ
เราย่อมอยากที่จะรู้เนื้อหาข้างในด้วยการเปิดดูสารบัญว่าในแต่ละบทมีหัวข้อที่เป็นเรื่องอะไรบ้าง
และเราก็อยากที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องแน่นอนครับ ถ้าหนังสือนั้นสามารถสะท้อนความรู้สึกต่างๆ ที่อยู่ในใจเรา ... หนังสือจึงเหมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เค้ารู้ใจเรา และพอถึงบทสุดท้ายหรือตอนจบ เราก็แทบไม่อยากให้จบลงเลยใช่ไหมครับ (งั้นรอตอนต่อไปกับหนุ่มหนอนหนังสือกันนะครับ ... ถึงเวลาที่เราจะมาเล่ามาคุยเกี่ยวกับหนังสือที่น่าสนใจและมีวางจำหน่ายบนแผงหนังสือกันแล้วนะ)